เบนจามิน บลูม (Benjamin S. Bloom อ้างถึงในอักษร สวัสดี 2552, 26-28) ได้ให้ความหมายของ ความรู้ ว่าหมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการระลึกถึงสิ่งเฉพาะ วิธีการและกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงแบบกระสวนของโครงการวัตถุประสงค์ในด้านความรู้ โดยเน้นในเรื่องของกระบวนการทางจิตวิทยาของความจำ อันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการจัดระเบียบ โดยก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1965 บลูมและคณะ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้หรือพุทธิพิสัย (cognitive domain) ของคน
คำว่าความรู้นั้น ในทัศนะของฮอสเปอร์ (อ้างถึงในมาโนช เวชพันธ์ 2552, 15-16) นับเป็นขั้นแรกของพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจดจำ ซึ่งอาจจะโดยการนึกได้ มองเห็น ได้ยิน หรือ ได้ฟัง ความรู้นี้ เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการเรียนรู้ โดยประกอบไปด้วยคำจำกัดความหรือความหมาย ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฎ โครงสร้าง วิธีการแก้ไขปัญหา และมาตรฐานเป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความรู้เป็นเรื่องของการจำอะไรได้ ระลึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนหรือใช้ความสามารถของสมองมากนัก ด้วยเหตุนี้ การจำได้จึงถือว่าเป็น กระบวนการที่สำคัญในทางจิตวิทยา และเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ การนำความรู้ไปใช้ในการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินผล ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้ใช้ความคิดและความสามารถทางสมองมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนความเข้าใจ (Comprehension) นั้น ฮอสเปอร์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นขั้นตอนต่อมาจากความรู้ โดยเป็นขั้นตอนที่จะต้องใช้ความสามารถของสมองและทักษะในชั้นที่สูงขึ้น จนถึงระดับของการสื่อความหมาย ซึ่งอาจเป็นไปได้โดยการใช้ปากเปล่า ข้อเขียน ภาษา หรือการใช้สัญลักษณ์ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลได้รับข่าวสารต่าง ๆ แล้ว อาจจะโดยการฟัง การเห็น การได้ยิน หรือเขียน แล้วแสดงออกมาในรูปของการใช้ทักษะหรือการแปลความหมายต่าง ๆ เช่น การบรรยายข่าวสารที่ได้ยินมาโดยคำพูดของตนเอง หรือการแปลความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง โดยคงความหมายเดิมเอาไว้ หรืออาจเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อสรุปหรือการคาดคะเนก็ได้
ความรู้ในความหมายทางวิทยาการคอมพิวเตอร์หมายถึงกฎในการทำงาน (Rule of Tumb) หรือถ้า-แล้ว (If-Then) ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุ สาเหตุ หรือ เหตุการณ์ (Cause or Event) และผลสะท้อนหรือผลลัพธ์ (Effect or Result) (ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์,2552 : 1) หรือ ส่วนผสมของกรอบประสบการณ์ คุณค่า สารสนเทศ ที่เป็นสภาพแวดล้อมและกรอบการทำงานสำหรับการประเมิน และร่วมกันของประสบการณ์และสารสนเทศใหม่Davenport and Prusak (1998, อ้างอิงในพรธิดา วิเชียรปัญญา, 2557; 20)
ความหมายของความรู้ Plato (อ้างถึงใน Nonaka and Takeuchi, 2016, p.21) ซึ่งได้ให้ คำนิยามว่า ความรู้คือการพิสูจน์ความเชื่อที่เป็นจริง ซึ่ง Nonaka และTakeuchi ได้อธิบายว่า ในความเป็นจริงนั้นความเชื่ออาจไม่ได้ประกอบกันเป็นความจริงก็ได้ ซึ่งความเชื่ออาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และความเชื่ออาจไม่ใช่ความจริงที่ถูกต้องเสมอในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น